Healthty.in.TH

จงออกกำลังกาย "เพราะคุณรักตัวเอง" ไม่ใช่….. "เพราะคุณเกลียดรูปร่างของตัวเอง"

สุขภาพ

PMS อาการก่อนเป็นประจำเดือน ที่ผู้หญิงเกือบทุกคนต้องเจอ

PMS อาการก่อนเป็นประจำเดือน ที่ผู้หญิงเกือบทุกคนต้องเจอ

เชื่อว่าผู้หญิงเกือบทุกคนน่าจะเคยที่เวลาใกล้จะมีประจำเดือนมาทีไร จะต้องมีอาการหงุดหงิดง่าย เหวี่ยงผู้คนรอบข้างไปหมด จนบ้างครั้งคนรอบข้างเข้าหน้าไม่ติดเลย หรือบางคนใกล้จะมีประจำเดือนทีไรก็มักจะมีอารมณ์อ่อนไหว เสียใจง่าย ขี้น้อยใจ ซึ่งอารมณ์เหล่านี้ทางการแพทย์เรียกว่า PMS หรือ (Premenstrual Syndrome) ซึ่งเป็นอาการก่อนที่ผู้หญิงจะมีประจำเดือน 1 – 2 อาทิตย์  โดยPMS คืออะไร และจะรักษาได้ด้วยวิธีไหนเรามาหาคำตอบไปด้วยกันเลยดีกว่า

PMS คืออะไร?

PMS หรือ Premenstrual Syndrome คืออาการก่อนที่จะมีประจำเดือนของผู้หญิงซึ่งอาจจะเกิดขึ้นก่อนที่จะมีประจำเดือน 1 – 2 อาทิตย์ จะทำให้ผู้หญิงมีอาการต่างๆ เกิดขึ้นทางร่างกายและสภาพจิตใจ เช่น เกิดความเครียด วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย มีอารมณ์อ่อนไหว มีอาการปวดหัว เจ็บเต้านม นอนไม่หลับ หรือบางคนมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงเกือบจะทุกคน และจะมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน โดยเมื่อประจำเดือนหมดไปอาการเหล่านี้ก็มักจะหายไปด้วยเช่นกัน

อาการก่อนเป็นประจำเดือน PMS อันตรายไหม

PMS คืออาการก่อนมีประจำเดือนของผู้หญิงซึ่งถือว่าไม่มีความอันตรายใดๆ แต่ถ้าพัฒนาเพิ่มระดับมาเป็น PMDD ซึ่งจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นมากกว่า PMS ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ มีอารมณ์หดหู่ สิ้นหวัง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า มีอาการอยากทำร้ายผู้อื่นและอยากฆ่าตัวตาย ซึ่งถ้าเป็นถึงระดับนี้ควรไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเร่งด่วน เพราะมีความอันตรายอย่างมาก

PMS มีอาการแบบไหนบ้าง

ผู้ป่วยที่มีอาการ PMS มักจะเกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือน 1 – 2 สัปดาห์ โดยอาการของผู้ป่วยแต่ละคนจะมีความรุนแรงที่แตกต่างกันและไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะมีอาการแบบที่กล่าวมาหมดทุกข้อ บางคนจะมีแค่ไม่กี่อาการและนี่คืออาการที่มักจะเกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือนของผู้ป่วย PMS

อาการทางด้านอารมณ์ได้แก่

  • มีอารมณ์แปรปรวนหงุดหงิดง่าย
  • มีอารมณ์อ่อนไหวโศกเศร้าร้องไห้ง่าย
  • มีความตึงเครียดวิตกกังวล และไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใด
  • มีความอยากอาหารมากกว่าปกติ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน คือนอนไม่หลับ ตื่นบ่อย
  • มีพฤติกรรมแปลกแยก ไม่เข้าสังคม

อาการทางด้านร่างกายได้แก่

  • ปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่นกล้ามเนื้อและข้อต่อ
  • ปวดหัวคล้ายๆ กับมีอาการเครียด
  • เจ็บเต้านม
  • ปวดท้องน้อยข้างขวา
  • ท้องผูก ท้องอืด ท้องเสีย
  • น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น
  • อ่อนเพลียเหนื่อยล้า
  • มีสิวขึ้นตามใบหน้า

อาการทางร่างกายและความเครียดที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยบางรายอาจจะมีความรุนแรงส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว จะหายไปเองตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือนแล้ว

รักษาบรรเทาอาการได้อย่างไร

วิธีรักษาบรรเทาอาการของโรค PMS หรืออาการก่อนมีประจำเดือนจะมีวิธีรักษาด้วยกัน 3 วิธีคือ รักษาด้วยการไม่ใช้ยา รักษาโดยใช้ยา และการรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด ซึ่งการรักษาของแต่ละวิธีจะมีอะไรบ้างนั้นเรามาดูกันเลยดีกว่า

การรักษาโดยไม่ใช้ยา

  • หมั่นออกกำลังกายประมาณครึ่งชั่วโมงต่อวัน เพราะการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายผลิตสารเอ็นโดฟิน ซึ่งเป็นสารที่ช่วยทำให้ร่างกายมีความสุข และช่วยลดความเครียดได้
  • พักผ่อนให้เพียงพอ นอนควรนอนหลับให้ได้วันละ 6-8 ชั่วโมงจะดีที่สุด
  • หลีกเลี่ยง เครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ บุหรี่ กาแฟ อาหารรสจัด และของหวาน
  • หันมารับประทานผักผลไม้ และธัญพืชมากขึ้น
  • รับประทานอาหารจำพวกที่มีวิตามิน บี 6 วิตามันอี แคลเซียม และแมกนีเซียมตามคำแนะนำของแพทย์

รักษาโดยใช้ยา

  • ทานยาแก้ปวดตามอาการปวด
  • ใช้ยารักษาอาการซึมเศร้า คลายเครียด จะช่วยลดอาการหงุดหงิด โศกเศร้า หรืออาการก้าวร้าวได้ โดยต้องรับประทานตามคำสั่งแพทย์สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลของแพทย์

การรักษาโดยการใช้ฮอร์โมน

การรักษาโดยใช้ฮอร์โมนคือการใช้ฮอร์โมนเพศหญิงที่มีฮอร์โมนต่ำ เช่น ยาคุมกำเนิด เพื่อให้ไปช่วยปรับฮอร์โมนในร่างกายให้สมดุล จะช่วยลดอาการหงุดหงิดและซึมเศร้าได้

อาการ PMS เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงเกือบจะทุกคน เป็นอาการก่อนที่จะมีประจำเดือนทำให้ผู้หญิงมีอารมณ์แปรปรวนหงุดหงิดได้ง่าย ซึ่งถ้าไม่อยากเกิดอาการของเหล่านี้ควรหมั่นออกกำลังกาย นอนพักผ่อนให้เพียงพอทาน อาหารที่มีประโยชน์ดื่มน้ำมากๆ ก็จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคดังกล่าวนี้ลงได้

Share this post

About the author